บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ปรับ 1 หมื่น ถึง 3 หมื่น บาท กฎหมายรถบรรทุก มีมานานเเล้วในไทย แต่ปัจจุบันได้มีการ เพิ่มเติมและเเก้ไข บางส่วนจากเดิม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทั้งในด้านการจราจรและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิด เรียกได้ว่าเป็นปีที่ทางการได้เอาจริงภาคปฏิบัติสำหรับการกำชับใช้กฎหมายต่าง ๆ ทางการจราจร สำหรับรถใหญ่อย่างรถบรรทุกต่าง ๆ ก็เช่นกัน เรามาดูกันว่า กฎหมายรถบรรทุก ที่เกี่ยวข้องกับ น้ำหนักบรรทุก มีอะไรบ้าง?
น้ำหนักบรรทุก เกินพิกัด หรือเกินจากที่กฎหมายกำหนด
เป็นการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการ บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด และ ดูแลถนนหนทาง เส้นทางการจราจร ไม่ให้ผุพังหรือทรุดโทรมก่อนกำหนดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการใช้งบประมาณการปลูกสร้างหรือซ่อมแซมถนนใหม่
บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ซึ่งล่าสุด มีการลงนามทำข้อตกตกลงร่วมระหว่างหลายภาคฝ่าย ในการจัดการเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินนี้ โดยจะนำสู่การเพิ่มเติมในข้อกฎหมายรถบรรทุก ส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก ที่ออกไว้เมื่อปี 2535 Truck2Hand รวมรวมมาให้ในนี้แล้ว
ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดของบรรทุกน้ำหนักเกินเกณฑ์ เช่น
รถบรรทุกขนาด 10 ล้อ น้ำหนักบรรทุก ต้องไม่เกิน 25 ตัน
รถบรรทุก 6 ล้อ น้ำหนักบรรทุกต้องไม่ให้เกินกว่า 15 ตัน
รถบรรทุกขนาด 4 ล้อ น้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกินกว่า 9.5 ตัน
โดยกฎหมายรถบรรทุกยังครอบคลุมไปถึงรถบรรทุกพ่วง หรือที่เราเรียกว่า รถพ่วงด้วย โดยแยกตามจำนวนล้อและเพลา เช่น
รถพ่วงที่มี 6 เพลา ที่มี 22 ล้อ น้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกินกว่า 50.5 ตัน
สำหรับโทษของการฝ่าฝืนกฎหมาย บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ข้อนี้นั้น จะคิดในลักษณะอัตราทบทวี คือ จะเริ่มต้นการปรับที่ 1 หมื่นบาท จากนั้นก็จะทบเพิ่มเป็น 3 หมื่น และกำหนดโทษขั้นสูงสุด ที่ 1 แสนบาท สำหรับผู้ฝ่าฝืนแอบลักลอบขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยจะเรียกปรับที่บริษัทที่รับผิดชอบการขนส่งและผู้ที่เป็นลูกค้าองค์บริษัทขนส่ง หรือ ผู้ใช้บริการขนส่งรถบรรทุกเหล่านั้น รวมถึงบริษัทที่เป็นปลายทางผู้รับที่รถบรรทุกเหล่านั้นจะไปส่งสินค้าให้ด้วย เรียกว่าเป็นกฎหมายรถบรรทุกที่มีการควบคุมด้วยโทษปรับอย่างครบวงจร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือ ผู้จ้าง ผู้บริการขนส่งรถบรรทุก และผู้รับปลายทาง เลยทีเดียว
กฎหมายรถบรรทุกด้านการควบคุมอุปกรณ์ล็อครถบรรทุกเพื่อความปลอดภัย
ด้านการล็อครถคอนเทนเนอร์ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้สิ่งของร่วงหล่น เป็นการกำชับให้ระมัดระวังดูแลสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้มีการปลิว ตกหล่น หรือ ถ้าเป็นของเหลว ก็คือ ห้ามมีการรั่วไหล เป็นทางจากรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าเพราะล้วนทำให้ผู้ขับขี่สัญจรไปมาได้รับความเสี่ยงจากการขับขี่ เป็นปัญหาที่ทำให้ตัวเลขสถิติอุบัติภัยบนท้องถนนเพิ่มขึ้นในทุกปี
ทั้งนี้ ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเข้าเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในไทยมีหลายแห่ง ทั้งแหลมฉบัง นวนคร เป็นต้น โดยทางการได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้กำชับตักเตือนและผู้ให้บริการรถบรรทุกสำหรับขนส่งสินค้า ในการตรวจตราความเรียบร้อยของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ดีก่อนที่กฎหมายรถบรรทุกจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2561
กฎหมายรถบรรทุกเรื่อง การติดตั้งแผ่นสะท้อนแสง
เนื่องจากมีสถิติตัวเลขจากอุบัติเหตุรถชนจากรถยนต์ส่วนบุคคลกับรถบรรทุกสิ่งของขนาดใหญ่ ของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีความยาว และขนาดความกว้างของรถที่ส่งผลลบต่อวิสัยทัศน์ในการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่น ๆ โดยเฉพาะการขับขี่ในเวลากลางคืน ที่มีอุบัติเหตุร้ายแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิตหลายครั้ง
ทั้งนี้กฎหมายรถบรรทุกส่วนของการติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสง เป็นหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานกฎหมายรถบรรทุกของไทยให้เข้าสู่ความเป็นสากลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมยานยนต์ที่สหประชาชาติ เพื่อออกมติให้แต่ละประเทศจัดระเบียบทางด้านนี้
ทางกรมการขนส่งทางบก ได้ออกกฎหมายรถบรรทุกส่วนเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ โดยเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของรถบรรทุก และรูปแบบของแผ่นสะท้อนแสงที่ต้องติดตั้ง ต้องถูกสีสัน ขนาดรูปร่าง ตำแหน่ง เพื่อวัตถุประสงค์หลัก คือต้องสามารถให้ผู้ขับขี่คันอื่น ๆ เห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในเวลาวิกาล โดยมีผลบังคับใช้ทันที สำหรับรถบรรทุกที่จดทะเบียนรถใหม่ ตั้งแต่ เมื่อ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา
โดยคุณสมบัติของแผ่นสะท้อนแสงที่ใช้ ต้องผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่ต่ำกว่า 150 เมตร และติดตั้ง 2 ด้าน คือ ด้านข้างรถ กับ ด้านท้ายรถ ซึ่งด้านข้าง รถ ต้องใช้แถบสะท้อนแสงที่เป็นสีเหลืองกับสีขาวเท่านั้น ส่วนด้านท้ายรถ กฎหมายรถบรรทุก ได้ระบุว่าให้ใช้สีแดง หรือ สีเหลือง และตำแหน่งที่ติด ต้องมีความสมดุลสมมาตรกันซ้ายขวาของด้านท้ายรถ โดยรถที่ต้องติดด้านหลัง คือรถที่มีความกว้าง มากว่า 2.1 เมตร ขึ้นไป ส่วนการติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถ ต้องติดให้แถบมีค่าความยาวไม่น้อยกว่าสัดส่วน 1 ใน 3 ของความยาวรถ แต่ไม่ให้เกิน 2 ใน 3 ของความยาวรถ
ทั้งนี้ หากเป็นรถเก่าที่ยังไม่ได้ติดตั้งให้ถูกต้อง ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 มกราคม 2562 หรือ หากติดตั้งแล้ว แต่สีสันของแถบป้ายฯ ยังไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไขภายใน 1 มกราคม 2563 มิฉะนั้นจะถูกโทษปรับโดยอ้างอิงจากกฎหมายรถบรรทุกในส่วนของ พรบ. การขนส่งทางบก ปี 2522 คือ โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท
รถบรรทุก กับ GPS
กรมการขนส่งทางบก ได้มีการกำหนดให้ รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปต้องทำการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือ กรมการขนส่งมีกฎหมาย ระบุให้ต้องมี GPS รถบรรทุก และ รถสาธารณะนั่นเอง เชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยในเรื่องติดตามพฤติกรรมการขับรถได้อีกทั้งยังส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงได้ด้วยเช่นกัน
มีสถิติอุบัติเหตุจากรถโดยสารและรถบรรทุกระบุว่า ปัญหาของอุบัติเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเรื่องการขับขี่ของพนักงานรวมถึงเรื่องของระบบบริหารจัดการองค์กร อาทิ มีการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, ให้พนักงานขับรถเกินเวลามาตรฐานความปลอดภัยส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้า อ่อนเพลีย จนนำมาซึ่งความเสียหายต่างๆ
ดังนั้น การใช้ GPS ติดรถบรรทุก จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มีรถบรรทุก ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะนอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยในทรัพย์สินเเละสามารถติดตามการดำเนินงานต่างๆของรถเเต่ละคันได้เเล้วนั้น ยังทำให้เจ้าของธุรกิจ สามารถควบคุมและติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่ากฎหมายรถบรรทุกในปี 2561 มีความเข้มงวดในหลายด้าน เพื่อลดปัญหาอุบัติภัยจากการใช้ท้องถนน และลดปัญหางบประมาณของชาติที่ต้องสูญเสียไปในการซ่อมบำรุงถนนสาธารณะ จึงเป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมที่ทุกคน ทุกภาคฝ่ายควร ควรร่วมมือร่วมใจกันทำตามอย่างเคร่งครัด
เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารดีๆจากเราอย่าลืมแวะเข้ามาดู Blog ของเราบ่อยๆกันนะครับ https://www.truck2hand.com/blogs/