หลายต่อหลายคน ขับรถหรือใช้ถนนแบบผิดๆ ด้วยความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยการใช้รถใช้ถนนที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผิดหรือถูก ถ้าถูกก็ดีไป แต่ความเชื่อผิดนี่สิที่เป็นปัญหา เพราะอาจทำให้เราใช้รถใช้ถนนอยู่กับเพื่อนร่วมทางที่เข้าใจไปอีกแบบ ด้วยความไม่รู้ ใช้อย่างประมาท ไปเรื่อย ๆ หลายกรณีเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับ Ep.นี้ Truck2Hand ขอยกตัวอย่างความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนที่ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทาง
1. ยกก้านปัดน้ำฝนขึ้นขณะจอดช่วยยืดอายุใบปัด ผิด หรือ ถูก
ยกก้านปัดน้ำฝนขึ้นเวลาจอดรถตากแดด หลายคนเชื่อว่าทำแบบนี้แล้วสามารถช่วยยึดอายุการใช้งานของยางปัดน้ำฝนได้ บอกเลยแทบไม่มีผลครับ ท่านใดที่ยกขึ้นไว้เอาลงมาก่อนครับ ไม่ว่าจะยกขึ้นหรือวาง อายุการใช้งาน หรือความคงทน ก็ไม่ได้มากขึ้นหรือช่วยให้เสื่อมช้าลงไปจากเดิมเท่าไหร่นัก ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี หากใช้นานกว่านั้นเนื้อยางจะแข็งตัวหรือมีการฉีกขาด ไม่ว่าจะยกไว้หรือไม่ก็ตาม แต่จะส่งผลเสียให้สปริงของก้านปัดมีอายุการใช้งานสั้นลง ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าเดิมหลายเท่า ถ้าต้องเปลี่ยนทั้งชุด ปัจจุบันมีอุปกรณ์ยกก้านปัดน้ำฝนจำหน่ายหาซื้อตามร้านประดับยนต์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้จอดในที่ร่มดีกว่า
ผิด : ที่ถูกต้อง…ไม่ว่าจะยกไว้หรือไม่ก็ตาม ใบปัดก็มีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี แนะนำให้เปลี่ยนทุกๆ 1ปี
2. ปิดแอร์…เปิดกระจกขับประหยัดกว่า ผิด หรือ ถูก
หลายครั้งที่รถเราน้ำมันใกล้หมด หรือต้องการความประหยัด เรามักจะถูกสอนให้ปิดแอร์แล้วเปิดกระจกรับลมจากภายนอก จะประหยัดกว่า
การปิดแอร์ มีผลทำให้ คอมแอร์ไม่ทำงาน ลดภาระของเครื่องยนต์ในระหว่างการใช้งานไปได้ระดับหนึ่ง หากความเป็นจริงคอมแอร์รถยนต์ก็ไม่ต่างจากคอมแอร์บ้าน พวกมันมีการตัดต่อการทำงานในช่วงจังหวะหนึ่งไม่ได้ทำงานตลอดอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจ ซึ่งโหลดการทำงานที่เกิดขึ้นชั่วคราวไม่ได้กินกำลังเครื่องยนต์ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่ทำให้ความเชื่อนี้ผิด คือ การเปิดกระจกทำให้ความสามารถในการลู่ลมตัวรถลดลง ในความเป็นจริงกระจกที่ถูกเปิดให้ลมผ่านเข้ารถ จะทำให้การไหลเวียนของอากาศผ่านตัวรถ ในระหว่างการขับขี่ช้าลง ยิ่งถ้าขับในความเร็วสูงขึ้นยิ่งมีผลมากกับการขับเคลื่อน ยกเว้นไม่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างช่วงเวลารถติดใน กทม.
ไม่ผิดทั้งหมด : ที่ถูกต้อง…การเปิดกระจกกระทำได้ที่ความเร็วต่ำเท่านั้นจึงจะได้ผล
3. เติมน้ำมันช่วงเช้าคุ้มค่าและได้ปริมาณน้ำมันมากกว่า ผิด หรือ ถูก
ฟังดูเข้าท่า แต่ไม่ถูกต้องครับ เบื้องหลังของความเชื่อนี้มาจากทฤษฎีที่ว่าของเหลวขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งนี่เป็นความจริง ดังนั้น หากอุณหภูมิต่ำลงในช่วงเช้า ก็อาจแปลว่าเราจะได้น้ำมันในถังเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันถูกกักเก็บอยู่ในถังที่ฝังอยู่ใต้ดิน ตามมาตรฐาน การจัดเก็บ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิในแต่ช่วงเวลาของวันไม่อาจส่งผลต่อปริมาณความหนาแน่นของน้ำมัน ทีนี้คุณจะเติมน้ำมันเวลาไหนก็ไม่สำคัญแล้วล่ะ ยกเว้นก่อนเติมน้ำมันให้สังเกตุว่ามีรถบรรทุกน้ำมันกำลังเติมลงในถังใต้ดิน ตรงนี้สำคัญมาก ควรหลีกเลี่ยงเลยครับ เนื่องจากขณะที่เติมน้ำมันเข้าถังใต้ดินจะส่งผลให้ตะกอนในถังใต้ดินฟุ้งกระจาย แล้วมันจะถูกดูดเข้ามาในหัวจ่าย เพื่อเติมในถังน้ำมันรถเรา อาจทำให้เครื่องยนต์ชำรุดได้
ผิด : ที่ถูกต้อง…เติมช่วงเวลาใดก็ได้ ยกเว้นช่วงที่มีรถบรรทุกน้ำมัน กำลังเติมน้ำมันลงถังน้ำมัน ใต้ดินของปั้มน้ำมัน
4. น้ำมันเครื่องบินเติมรถช่วยให้รถวิ่งได้ไวขึ้น ผิด หรือ ถูก
เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นแน่นอน เครื่องยนต์รถยนต์ทั่วไปไม่สามารถสันดาปน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องบินได้ เพราะมันคือน้ำมันก๊าด ดังนั้นหากคุณคิดจะลอง ขอให้หยุดความคิดนั้นไว้ แล้วกลับไปใช้น้ำมันรถปกติ ก่อนที่จะต้องเสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าความเชื่อผิดๆ เหล่านี้มาจากไหนและทำไมความเชื่อผิดๆ เหล่านี้จึงกระจายในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม รถยนต์ในปัจจุบันได้รับการออกแบบอย่างดี เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือระดับอย่างมีประสิทธิภาพ การประหยัดน้ำมัน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับการใช้น้ำมันของรถของคุณ เราขอแนะนำให้ปรึกษาผู้แทนจำหน่ายหรือ ไปที่ศูนย์บริการที่ได้รับอนุญาตจะดีที่สุด
ผิด : ที่ถูกต้อง…เครื่องยนต์รถยนต์ทั่วไปไม่สามารถสันดาปน้ำมันก๊าดได้
5. มาถึงก่อนต้องได้ไปก่อนสิ ผิด หรือ ถูก
5.1. เมื่อขับขี่รถมาถึงทางร่วมทางแยก ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถทางร่วมทางแยก นั้นผ่านไปก่อน
(2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน และไม่รออยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนไปผ่านไปก่อน
(3) เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่าน ทางเดิน รถทางโท ต้องให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับขี่รถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน
5.2. ทางเดินรถทางเอก หมายถึง
(1) ทางเดินรถที่ติดตั้งเครื่องหมายจราจร แสดงว่าเป็นทางเอก
(2) ทางเดินรถที่มีป้าย “หยุด” หรือมีป้ายคำว่า “ให้ทาง” ติดตั้งไว้ หรือทางเดินรถที่มีคำว่าหยุด หรือเส้นหยุด ซึ่งเส้นสีขาวทึบ หรือเส้นให้ทาง เป็นสีขาวประบนผิวทาง ให้ทางเดินรถที่ขวางข้างหน้าเป็นทางเดินรถทางเอก
(3)ิ ให้ทางเดินรถที่มีช่องเดินรถมากกว่าเป็นทางเดินรถทางเอก
(4) ถนนที่ตัด หรือ บรรจบกับตรอก หรือซอยให้ทางเดินรถที่เป็นถนนเป็นทางเดินรถทางเอก
5.3. ในกรณีที่วงเวียนใดได้ติดตั้งสัญญาณจราจร ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตาม สัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรนั้น
(1) ถ้าไม่มีสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรตามวรรคหนึ่ง เมื่อ ผู้ขับขี่รถมาถึงวงเวียนต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถอยู่ในวงเวียน ทางด้านขวาของคนขับผ่านไปก่อน
(2) ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรเห็นสมควร เพื่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรจะต้องใช้สัญญาณ จราจรเป็นอย่างอื่นแล้วนอกจากที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงาน เจ้าหน้าที่กำหนดให้
5.4. ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถออกจากทางบุคคล หรือทางเดินรถในบริเวณอาคาร เมื่อจะขับรถผ่านหรือเลี้ยวเข้าสู่ทางเดินรถ ที่ตัดผ่านต้องหยุดรถ เพื่อให้ รถที่กำลังผ่านทาง หรือรถที่กำลังแล่นอยู่ในทางเดินรถผ่านไปก่อน เมื่อ เห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไปได้
6. พบรถฉุกเฉินให้อยู่ นิ่งๆ เดี๋ยวเค้าก็จะแซงไปเอง ผิด หรือ ถูก
เมื่อพบรถฉุกเฉิน, รถพยาบาลหรือรถดับเพลิง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ให้สัญญาณไฟเลี้ยวในทิศทางที่ต้องการจะหลบ และเมื่อดูว่าปลอดภัย ต้องรีบหลบหรือเบี่ยง เพื่อให้ทางแก่รถฉุกเฉินผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรขับแช่ในช่องทางวิ่งเดียวกัน และรอให้รถฉุกเฉินแซงไปเอง เพราะว่าการที่รถฉุกเฉินต้องเปลี่ยนช่องทางบ่อยๆ อาจเกิดอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ภายในรถได้ นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องสังเกตุเหตุการณ์รอบๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องหลบ และหลีกให้พ้นผิวจราจรทางด้านซ้ายทันทีเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท นอกจากนี้ ผู้ที่ขับรถกีดขวางรถพยาบาลก็อาจจะถูกตั้งข้อหาหนักตามมาอีกด้วย ถ้าหากการกระทำนั้นเป็น “เหตุโดยตรง” ที่ทำให้ผู้เจ็บป่วยในรถพยาบาลถึงแก่ชีวิต อาจเข้าข่ายกระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือกระทำโดยเจตนา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้ขับรถครับ
ผิด : ที่ถูกต้อง…ต้องรีบหลบหรือเบี่ยง เพื่อให้ทางแก่รถฉุกเฉินผ่านไปได้อย่างปลอดภัย
7. เข้าเกียร์ว่างเมื่อไหลลงสะพาน ลงเขา หรือใกล้หยุดรถ ผิด หรือ ถูก
ไม่ควรเข้าตำแหน่งเกียร์ว่าง เมื่อขับลงทางลาดชันหรือก่อนรถจะหยุดนิ่ง เพราะจะทำให้ภายในระบบชุดเกียร์เกิดการเสียหายเร็วกว่าปกติ เนื่องจากชุดเฟืองและชุดคลัตช์ภายในระบบเกียร์หมุนในความเร็วสูง แล้วถูกสั่งให้หยุดหมุนอย่างรวดเร็ว ระหว่างนั้นจะเกิดการเสียดสีขึ้นมากกว่าการปลดเกียร์ว่างที่ความเร็วต่ำ และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายในกรณีขับขี่ทางลงเขาหรือเนินชันมากๆ ระบบเบรคจะทำงานหนักจนเกิดความร้อนและประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้หากต้องการจะเร่งแซงอีกครั้งยิ่งทำให้ชุดเกียร์สึกหรอมากกว่าปกติ จึงไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด
ผิด : ที่ถูกต้อง…ไม่ควรเข้าตำแหน่งเกียร์ว่าง เมื่อขับลงทางลาดชันหรือก่อนรถจะหยุดนิ่ง
8. เดินทางไกลลมยางอ่อนดีกว่าแข็ง เดี๋ยวยางร้อนก็แข็งเอง ผิด หรือ ถูก
ตามคู่มือการใช้และรักษารถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหน ก็แนะนำตรงกันว่าผู้ใช้รถควรเติมลมยางตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้ และให้เพิ่มแรงดันลมยางให้สูงขึ้นอีก 2-3 ปอนด์ เมื่อต้องเดินทางไกลลมยางที่อ่อนกว่ามาตรฐานกำหนด นอกจากจะทำให้หน้ายางด้านนอกสึกมากกว่าด้านในแล้วยังอาจส่งผลเสียกับโครงสร้างยางได้ และมีโอกาสระเบิดมากกว่า เพราะอุณหภูมิความร้อนที่เกิดจากการเสียดสี
ผิด : ที่ถูกต้อง…ยางลมอ่อนจะทำให้แก้มยางยุบและยืดตัวตลอดเวลาอาจทำให้ระเบิดได้
9. เอนนอนขับ…สบายที่สุด ผิด หรือ ถูก
ท่าขับแบบท่านี้จะรู้สึกว่าจะหลุดจากเบาะนั่งทุกครั้งที่เบรคแรงๆ แขนที่เหยียดตึงตลอดเวลานอกจากจะทำให้เมื่อยล้า ยังต้องยกตัวขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลี้ยว เพราะไม่มีแรงหมุนพวงมาลัย และ มองทางข้างหน้าไม่เห็น เช่นเดียวกับเวลาถอยหลังจอด สายเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าการนั่งขับแบบปกติ อาจจะรั้งคอแทนที่จะเป็นไหล เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ท่านั่งที่ถูกต้องเอาหลังพิงพนักจนสนิทแล้วเหยียดแขนข้างใดข้างหนึ่งไปวางบนส่วนบนสุดของพวงมาลัยแล้ว ตรงกับข้อมือ ขาต้องสามารถเหยียบแป้นคลัทช์จนจมโดยไม่ต้องเหยียดข้อเท้าสุดแบบนักบัลเลท์ ส่วนใต้ของขาอ่อนดันกับเบาะนั่งส่วนหน้าจนรู้สึกว่าน้ำหนักตัวที่ลงตรงสะโพกพอดี และยังสัมผัสกับพนักพิง
ผิด : ที่ถูกต้อง…หลังพิงเบาะจนสนิทแล้วแขนข้างใดข้างหนึ่งไปวางบนส่วนบนสุดของพวงมาลัยแล้ว ตรงกับข้อมือ
10. ต้องเปลี่ยนไส้กรองทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ผิด หรือ ถูก
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไส้กรองพร้อมกับน้ำมันเครื่องก็ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนไส้กรองพร้อมกับเปลี่ยนน้ำมันเครื่องใหม่ก็จะเกิดผลดีกว่าที่จะไม่เปลี่ยน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ จำนวนไม่น้อย แนะนำให้เปลี่ยนไส้กรอง ทุกๆ 2 ครั้งของการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ในปัจจุบัน หากใช้งานไปเรื่อยๆ จนน้ำมันเครื่องหมดอายุแล้ว ไส้กรองน้ำมันเครื่องก็จะปนเปื้อน และมีสิ่งสกปรกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นคราบเขม่าควันที่มาจากการเผาไหม้ เศษฝุ่นละออง หรือเศษละอองของโลหะที่เกิดจากการเสียดสี ดังนั้น ทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำมันเครื่องก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วย เพื่อความสะอาดและการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน หรือมีสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ในไส้กรองอันเก่า ซึ่งไส้กรองที่มีอยู่ในท้องตลาด ราคาไม่สูงมาก ถ้าไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายมากก็ควรเปลี่ยนดีกว่า
ไม่มีผิด ไม่มีถูก ในความเป็นจริงขึ้นอยู่กับความสบายใจ แต่อย่างน้อย ครั้งเว้นครั้ง